วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พลังงานชีวมวล: ทางรอดของประเทศในยุควิกฤติพลังงาน


ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของไทยที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักนั้น ความต้องการพลังงานเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำไปใช้ในระบบการผลิต การขนส่ง และกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

สิ่งหนึ่งที่ทุกประเทศต้องใช้ในการแลกเปลี่ยนกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ คือ การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานที่หมดไปเรื่อยๆ พร้อมกันกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง

ในอดีต การใช้พลังงานทั่วโลกต่างมุ่งเน้นไปที่ พลังงานเชิงพาณิชย์ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือ ถ่านหิน ซึ่งพลังงานเหล่านี้ นอกจากจะสร้างมลพิษในปริมาณที่สูงมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ่านหิน) แล้ว ยังเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป (Depleted energy) การที่จะนำประเทศไปพึ่งพิงเฉพาะพลังงานประเภทนี้เป็นหลักนั้นสามารถทำได้ในทางปฏิบัติ พร้อมกับการรณรงค์ให้มีจิตสำนึกประหยัดพลังงาน และต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) ไปควบคู่กัน

• พลังงานหมุนเวียนและพลังงานจากชีวมวล
พลังงานหมุนเวียนในโลกนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้
(1) พลังงานหมุนเวียนที่มาจากแสงอาทิตย์โดยตรง ซึ่งคือ พลังงานแสงอาทิตย์
(2) พลังงานหมุนเวียนที่มาจากแสงอาทิตย์โดยอ้อม เช่น พลังงานลม, คลื่น, หรือ ชีวมวล (และชีวภาพ)
(3) พลังงานหมุนเวียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับแสงอาทิตย์ เช่น พลังงานใต้พิภพ, น้ำขึ้น-น้ำลง

พลังงานทั้งสามประเภท ต่างมีศักยภาพที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ สำหรับในประเทศไทยนั้น นอกเหนือจากพลังงานจากแสงอาทิตย์แล้ว พลังงานชีวมวลจัดได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือ มีศักยภาพสูงมากอีกด้วย

ชีวมวล (Biomass) คือสารทุกรูปแบบที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิต โดยไม่นับการกลายเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลไปแล้ว เช่น สิ่งที่ได้หรือเหลือใช้จากการเกษตร (เช่น แกลบ ชานอ้อย ฟางข้าว), ขยะมูลฝอย, น้ำเสียจากโรงงาน หรือ แม้กระทั่งมูลสัตว์ต่างๆ มีรายงานว่า พลังงานชีวมวลนี้มีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 14.7% ของพลังงานรวมของโลก ประมาณกันว่า ประชากรกว่า 40% ของประชากรโลก อาศัยชีวมวลในการหุงต้มและให้ความอบอุ่น และหากพิจารณาเฉพาะปริมาณการใช้ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกนั้น การใช้พลังงานชีวมวลจะมีสัดส่วนที่ 38.1% ของการใช้พลังงานทั้งหมด โดยมีจีนและอินเดีย เป็นประเทศผู้ใช้หลัก

สำหรับในประเทศไทยนั้น ข้อมูลล่าสุดคือในปี พ.ศ. 2545 ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้รายงานว่าสัดส่วนการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของพลังงานเชิงพาณิชย์ต่อพลังงานชีวมวล อยู่ที่ประมาณ 83:17 ซึ่งลดลงจาก 10 ปีก่อน ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70:30 นั่นหมายความว่า เรามีการใช้พลังงานชีวมวลในสัดส่วนที่น้อยลงอย่างมาก แต่กลับไปใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่มากขึ้น เป็นสาเหตุให้มูลค่าการนำเข้าพลังงานของประเทศสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2545 คิดเป็นมูลค่าถึง 336,388 ล้านบาท (85% ใช้ไปกับการซื้อน้ำมันดิบ)

คำถามที่ตามมาคือ เราจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวลได้ในทางใดบ้าง และในปริมาณที่มากน้อยเพียงใด

• ศักยภาพของพลังงานชีวมวล
ทาง พพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศในด้านพลังงานหมุนเวียน ได้ทำการสำรวจศักยภาพของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของพืช 10 ชนิดหลักของประเทศ โดยได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเก็บหรือนำวัสดุเหล่านั้นกลับมาใช้ตามสภาพความเป็นจริง พบว่า ในปี 2543 ประเทศไทยมีปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรรวม 63 ล้านตัน และมีการนำไปใช้งานเป็นเชื้อเพลิงและอื่นๆเพียง 16 ล้านตันเท่านั้น ส่วนที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้และมีศักยภาพในการให้พลังงานนั้นมีสูงถึง 42 ล้านตัน และหากนับรวมถึงก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลสัตว์ ขยะ และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม มาประกอบการประเมิน และได้คิดเผื่อถึงความเป็นไปได้ทุกอย่างในการนำพลังงานกลับมาใช้จริงแล้ว พบว่า ในปี 2543 เพียงปีเดียว ประเทศไทยมีศักยภาพของพลังงานชีวมวลถึง 650 เพตาจูล

ตัวเลขในเชิงพลังงานนี้อาจดูไม่คุ้นเคยนัก แต่หากเปลี่ยนตัวเลขนี้เป็นปริมาณพลังงานที่ได้จากน้ำมันดีเซล ตัวเลขนี้เทียบเท่ากับพลังงานความร้อนที่ได้จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปริมาณ 17,850 ล้านลิตร เลยทีเดียว (ในปี 2545 ไทยใช้น้ำมันดีเซลทั้งปีรวม 15,970 ล้านลิตร)

โดยส่วนเหลือจากอ้อย เช่นชานอ้อยหรือยอดและใบอ้อย แกลบและฟางข้าว และส่วนเหลือของปาล์มน้ำมัน เช่นกะลา ทะลาย หรือเส้นใยปาล์ม จัดเป็นกลุ่มชีวมวลที่มีสัดส่วนสูงที่สุด คิดเป็น 85% ของศักยภาพชีวมวลทั้งหมดของประเทศ

แล้วชีวมวลที่มีเหลือมากมายนี้ จะไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง
โดยทั่วไปแล้ว การนำชีวมวลไปใช้มี 2 ประเภทคือ
หนึ่ง นำไปใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงานความร้อน เช่น การนำฟืนไปใช้ในเตาอั้งโล่ของชาวบ้าน หรือ การนำเศษไม้ที่เหลือจากการผลิตของโรงงานทำไม้ไปใช้ในหม้อไอน้ำเพื่อให้ได้ไอน้ำไปใช้ในการอบไม้ และ
สอง นำชีวมวลไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น โรงน้ำตาลใช้กากอ้อยที่ได้จากการหีบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า หรือ โรงสีขนาดใหญ่ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

ในประเภทแรกนั้น ไทยได้นำชีวมวลไปใช้ในสร้างพลังงานความร้อนมาเป็นระยะเวลานานแล้วในระดับครัวเรือน โดย ฟืน และถ่าน จัดเป็นชีวมวลสองชนิดที่มีปริมาณการใช้สูงสุดในภาคครัวเรือนของไทย ส่วนในภาคอุตสาหกรรมนั้น กากหรือชานอ้อยและแกลบ จัดเป็นชีวมวลที่มีปริมาณการใช้สูงสุดในการผลิตพลังงานความร้อน ทั้งนี้ ศักยภาพการใช้พลังงานในระดับครัวเรือนยังมีอีกสูงมาก เพียงแต่ชาวบ้านยังขาดความเข้าใจในวิธีการใช้และเก็บรักษาที่ถูกต้อง ชีวมวลบางประเภทเช่น ฟืนหรือถ่าน จะมีคุณสมบัติด้านความร้อนที่ต่ำลงมาก หากมีการเก็บรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ชาวบ้านยังไม่ทราบถึงวิธีการนำชีวมวลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ส่วนใหญ่ยังนำฟืน หรือ ถ่านไปใช้ในเตาอั้งโล่แบบเก่า ซึ่งมีการสูญเสียความร้อนสูงมาก จะทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงชีวมวลมากเกินความจำเป็น

การแก้ปัญหานี้ ทางรัฐบาลควรทำการประชาสัมพันธ์หรือแนะนำ การนำชีวมวลไปใช้อย่างถูกต้องแก่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมผ่าน อบต. หรือ การโฆษณาทางสื่อต่างๆเป็นระยะๆ มีการรณรงค์จำหน่ายอุปกรณ์ชีวมวลประสิทธิภาพสูง (เช่นเตาประสิทธิภาพสูง) ให้แก่ชาวบ้านในราคาที่ต่ำ เป็นต้น
ในประเภทที่สอง การนำชีวมวลไปผลิตไฟฟ้ายังจำกัดเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมประเภทที่ใช้กากอ้อยและแกลบเป็นเชื้อเพลิงหลัก แม้ว่าแท้จริงแล้ว ประเทศยังมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลอีกมาก ดังแสดงในตารางประกอบ ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของชีวมวลของไทยในการผลิตไฟฟ้าเป็นค่าเฉลี่ยรายปีระหว่างปี 2542-2545 โดย พพ. พบว่า หากมีการนำชีวมวลที่เหลือใช้เหล่านี้กลับไปใช้เป็นพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น คาดว่าประเทศไทยจะมีกำลังผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 14,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี (14,000 ล้านหน่วย) หรือเปรียบได้กับมีโรงไฟฟ้าขนาด 1,800 MW เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ชีวิตที่เลือกได้


“ยุคแห่งการใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือยและการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก กำลังจะหมดลง” แม้ว่าวิทยาการและเทคโนโลยีด้านต่างๆ ของโลกจะพัฒนาและก้าวหน้าไปมาก เราสามารถติดต่อและทำธุรกิจกับผู้คนในอีกซีกโลกได้เพียงปลายนิ้ว การเดินทางหรือท่องเที่ยวไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นๆนอกโลกมิใช่เป็นเพียงความฝัน แต่ทั่วโลกก็ยังคงพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก การปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจทัวโลกเติบโตกันแบบก้าวกระโดดทรัพยากรธรรมชาติทางธรรมชาติไม่ว่าป่าไม้หรือพลังงานรูปแบบต่างๆ ที่ธรรมชาติสร้างสมมาเป็นเวลานับล้านปี ถูกนำมาใช้กันเป็นจำนวนมหาศาลทุกวินาทีที่มีดำเนินชีวิตผู้คนในอดีตทรัพยากรต่างๆ มีเป็นจำนวนมาก รูปแบบในการพัฒนาของแต่ละประเทศทั่วโลกจึงเป็นไปในแนวเดียวกันคือพึ่งพาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เป็นหลัก เช่นแต่ก่อนนำมันเชื้อเพลิงมีราคาถูกภาครัฐก็เร่งการสร้างถนนหนทาง และทางด่วน ส่วนภาคอุตสาหกรรมก็เร่งผลิตรถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แทนที่จะวางแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและระบบสาธารณะ ทำให้วันนี้แม้ถนนหนทางจะถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะให้รถยนต์วิ่งกัน เกิดปัญหาจราจรตามมา ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับปัญหามลพิษจากเครื่องยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
ประเทศเราก็เป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งมีแนวทางในการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้วและกำลังพยายามแก้ไขปัญหาที่ประสบอยู่ แม้เราจะมีทรัยากรด้านป่าไม้และพืชพันธุ์ธัญญาหารอย่างพอเพียง แต่ทรัพยากรในด้านพลังงานของเรามีน้อยมาก และไม่เพียงพอสำหรับการใช้ภายในประเทศ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ในปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าพลังงานสูงกว่าการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรถึง 4 เท่า โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมซึ่งต้องพึ่งพาการใช้พลังงานสิ้นเปลืองเช่น น้ำมัน ถ่านหิน เป็นหลัก เมื่อเกิดวิกฤติด้านพลังงาน อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ราคาของน้ำมันและถ่านหินเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาของผลผลิตปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก จึงจำต้องพากันปิดตัวลง ทุกวันนี้มีโรงงานที่ปิดตัวลงเพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนด้านพลังงานนับพันแห่ง จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ทำให้ทราบว่า พลังงานสำรองน้ำมันของโลกมีให้ใช้กันอีกเพียง 30 กว่าปี ก๊าซธรรมชาติประมาณ 60 ปี และถ่านหินอีกประมาณ 200 ปี ในขณะที่ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานสิ้นเปลืองประเภทต่างๆ ของโลกและประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว อีกไม่นานเราคงจะได้เห็นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลิตรละ 100 บาท
ที่สำคัญพลังงานสิ้นเปลืองต่างๆ ที่เราใช้อยู่ เป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่บรรยากาศและส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เราทราบหรือไม่ว่าเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากมายจนยากที่จะประเมินได้ ไม่ว่าจะเป็นการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก ส่งผลให้ระดับน้ำในมหาสมุทรและทะเลเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่บริเวณชายฝั่งลดน้อยลง กระแสน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนทิศ ฤดูการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น ปัจจัยในการดำเนินชีวิตและอาหารการกินขาดแคลน ฯลฯ
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีในการดำเนินชีวิตแบบเดิมๆ “ทางเลือกชีวิต” ในอนาคตของเราจะเป็นเช่นไร หวังว่าเวทีนี้คงเป็นกระบอกเสียงสู่ผู้บริหารประเทศและประชาชน ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งจะมีบทบาทและมีสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในอนาคตอันใกล้ ฉบับถัดไปจะอธิบายให้ฟังว่า พลังงานทดแทนคืออะไร หาได้จากที่ไหน จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ที่ไหนใช้กันบ้างในประเทศไทย แนวโน้มการพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในประเทศ รวมถึงชุมชนแบบอย่างที่พึ่งพาตนเองด้านพลังงานทดแทน

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ภาวะโลกร้อน (Global Warming)


ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน สังเกตได้จาก อุณหภูมิ ของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักของปัญหานี้ มาจาก ก๊าซเรือนกระจก(Greenhouse gases)
ปรากฏการณ์เรือนกระจก มีความสำคัญกับโลก เพราะก๊าซจำพวก คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีเทน จะกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในในโลก ไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด มิฉะนั้น โลกจะกลายเป็นแบบดวงจันทร์ ที่ตอนกลางคืนหนาวจัด (และ ตอนกลางวันร้อนจัด เพราะไม่มีบรรยากาศ กรองพลังงาน จาก ดวงอาทิตย์) ซึ่งการทำให้โลกอุ่นขึ้นเช่นนี้ คล้ายกับหลักการของ เรือนกระจก (ที่ใช้ปลูกพืช) จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect)
แต่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ CO2 ที่ออกมาจาก โรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ หรือการกระทำใดๆที่เผา เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ) ส่งผลให้ระดับปริมาณ CO2 ในปัจจุบันสูงเกิน 300 ppm (300 ส่วน ใน ล้านส่วน) เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 แสนปี
ซึ่ง คาร์บอนไดออกไซด์ ที่มากขึ้นนี้ ได้เพิ่มการกักเก็บความร้อนไว้ในโลกของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็น ภาวะโลกร้อน ดังเช่นปัจจุบัน
ภาวะโลกร้อนภายในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 มานี้ ได้มีการบันทึกถึงปีที่มีอากาศร้อนที่สุดถึง 3 ปีคือ ปี พ.ศ. 2533, พ.ศ.2538 และปี พ.ศ. 2540 แม้ว่าพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีความไม่แน่นอนหลายประการ แต่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้เปลี่ยนหัวข้อจากคำถามที่ว่า "โลกกำลังร้อนขึ้นจริงหรือ" เป็น "ผลกระทบจากการที่โลกร้อนขึ้นจะส่งผลร้ายแรง และต่อเนื่องต่อสิ่งที่มีชีวิตในโลกอย่างไร" ดังนั้น ยิ่งเราประวิงเวลาลงมือกระทำการแก้ไขออกไปเพียงใด ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น และบุคคลที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ลูกหลานของพวกเราเอง
วิธีแก้ไขโลกร้อนง่ายๆ

ภาวะโลกร้อน ตอนนี้หลายยๆคนก็คงตระหนักกันดีแล้ว ว่ามันสร้างความเสียหาย และทุกข์ทรมานให้เราแค่ไหน
ในเมื่อโลกมันร้อน เราก็น่าจะมาร่วมกันรณรงค์ หรือเชิญชวนให้ทุกๆคนหันมาช่วยกันปลูกต้นไม้นะ
ทั้งในบ้านเรือน อาคารสำนักงาน และตามหัวไร่ปลายนา ปลูกให้มันร่มครึ้มทุกหย่อมหญ้า โดยที่ภาพรัฐเองน่าจะมี
บทบาทในการให้ข้อมูล ความรู้แก่ประชาชนว่า สถานที่แบบใดเหมาะกับต้นไม้ชนิดไหน เป็นต้นว่า ตามบ้านเรือน อาจ
จะเป็นต้นไม้จำพวกไม้มงคล หรือต้นไม้ประดับแบบไทยๆ หรือไม่ก็ตามทุ่งนาอาจจะแนะนำต้นไม้ที่โตเร็ว ต้นและกิ่ง
ก้านนำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกสร้างได้
พร้อมๆกันนั้นก็ขยายกล้าพันธุ์แจกให้เกษตรกรไปด้วย และก็รณรงค์ผ่านสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่องและจริงจัง คงไม่สิ้น
เปลืองงบประมาณสักเท่าไหร่หรอก ก็ทีเสียไปกับกล้ายางพาราไปตั้งเยอะแยะยังไม่เห็นเป็นไรเลย
เอาเป็นว่าวิธีนี้ คือวิธีที่ง่ายที่สุดและทำกันได้ทุกคน ดีไหม
แก้ไขโลกร้อนได้! ด้วย 10 วิธีทำให้โลกเย็นลงอย่างพอเพียง

1.ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า หลังเลิกใช้
เหตุผล: ช่วยประหยัดไฟ และทำให้เราไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบัน ถ่านหินคือตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนมากเป็นอันดับ 1
ผลที่ได้รับ: ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้หลายร้อยกิโลกรัมต่อปี และที่สำคัญคือ ต้องถอดปลั๊กไฟออกด้วยทุกครั้ง จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 4,000 บาทต่อปี

2.เปลี่ยน หลอดไส้ เป็นหลอดตะเกียบ
เหตุผล: จะทำให้เราไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบัน ถ่านหิน คือตัวการสำคัญ ที่ ทำให้โลกร้อนมากเป็นอันดับหนึ่ง
ผลที่ได้รับ: การเปลี่ยนเป็นหลอดประหยัดไฟ จะช่วยประหยัดไฟได้ 3-5 เท่า และยังมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดธรรมดาถึง 10 เท่า เท่ากับลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 80 และประหยัดเงินได้ 738 บาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้ถึง 295 กิโลกรัมต่อปี

3.ตั้ง อุณหภูมิแอร์ ที่ 25 ‘c
เหตุผล: เพื่อไม่ให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก ซึ่งจะทำให้สูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์
ผลที่ได้รับ:ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้ถึง 900 กิโลกรัมต่อปี และยังประหยัดพลังงานได้ 2.4 หน่วย

4.ลด ใช้เครื่องทำน้ำร้อน
เหตุผล: เครื่องทำน้ำร้อนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานมาก
ผลที่ได้รับ: ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้ถึง 300 กิโลกรัมต่อปี

5.ติด ฉนวนกันความร้อนในบ้าน
เหตุผล: เพราะการติดตั้งฉนวนกันความร้อน จะทำให้เครื่องปรับอากาศไม่ทำงานหนัก และช่วยประหยัดพลังงาน
ผลที่ได้รับ: จะช่วยประหยัดพลังงานในบ้านได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์

6.ปลูกต้นไม้ยืนต้น
เหตุผล: ต้นไม้ 1 ต้น ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ได้ 1 ตัน ตลอดอายุของต้นไม้

7.เพิ่ม การใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล
เหตุผล: เพราะในการผลิตกระดาษหรือพลาสติกแบบรีไซเคิล ใช้พลังงานในการผลิตเพียง 50 เปอร์เซ็นต์
ผลที่ได้รับ: การใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล จะช่วยลดปริมาณขยะได้ถึงปีละ 1,450 ตัน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้ 1 ตันต่อปี

8.เลี่ยงการใช้รถยนต์ส่วนตัวคนเดียว
เหตุผล: เพราะน้ำมัน คือแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซค์ที่สำคัญ โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 40
ทางแก้ไข: ควรจัดระบบ car pool รวมทั้งหันมาใช้จักรยาน รถขนส่งมวลชน หรือเดินให้มากขึ้น เพราะจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้ถึง 1,000 ตันต่อวัน (ต่อปริมาณรถในกทม. 5.5 ล้านคัน) นอกจากนี้รถขนส่งมวลชนยังมีประสิทธิภาพทางพลังงานมากกว่ารถยนต์ส่วนตัวถึง 3 เท่า และยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ได้ถึง 8 เท่าอีกด้วย

9.เลือกซื้อของที่ผลิตในประเทศ
เหตุผล: เพราะการซื้อสินค้าต่างประเทศต้องสิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่ง บรรจุภัณฑ์ และจัดจำหน่าย
ผลที่ได้รับ: การใช้ของที่ผลิตในประเทศจะช่วยลดค่าหีบห่อและค่าขนส่ง ทำให้สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ที่จะเกิดขึ้น และเงินตราไม่รั่วไหลอีกด้วย

10.กินผักแทนเนื้อสัตว์ให้มากขึ้น
เหตุผล: การทำปศุสัตว์ คือแหล่งที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ไม่ว่าจะเป็นการแผ้วทางพื้นที่ป่าเพื่อทำฟาร์มปศุสัตว์ หรือ การขับถ่ายของเสียจากสัตว์ ล้วนทำให้เกิดการแพร่กระจายของก๊าซเรือนกระจก ในชั้นบรรยากาศ ถึง 18 เปอร์เซ็นต์
ผลที่ได้รับ: ถ้าเราลดการผลิตเนื้อสัตว์ทุก ๆ 1 กิโลกรัม จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับคาร์บอนไดออกไซค์ ได้ 3-4 กิโลกรัม
คุณก็ช่วยลดโลกร้อนได้นะครับ
จากแหล่งที่มาของเนื้อหาบางส่านจาก"มติชน"

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าชายฝั่ง ในพื้นที่สาธิตการบรรเทาวิกฤตภาวะโลกร้อน บางปู จังหวัดสมุทรปราการ


ทุ่งกังหันลมหรือ Wind Farm ในพื้นที่สาธิตการบรรเทาวิกฤตภาวะโลกร้อน บางปู จังหวัดสมุทรปราการประกอบไปด้วยกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 5 kW จำนวน 9 ต้น รวมกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้ปกติที่ความเร็วลม 11 เมตรต่อวินาที 45 กิโลวัตต์ และสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 48.6 กิโลวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งผ่านระบบสายไฟที่ถูกฝังไว้ใต้ดินเพื่อความปรอดภัยและความสวยงาม ไปยังห้องควบคุมการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบซึ่งประกอบไปด้วยอุปกรณ์หลักๆ ที่สำคัญเช่น ชุดควบคุมกังหันลม เครื่องแปลงไฟฟ้าแบบเชื่อมต่อสายส่ง ระบบคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมและวิเคราะห์พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากระบบ ซึ่งออกแบบอย่างมาตรฐานเป็นไปตามกฏระเบียบของทางการไฟฟ้าฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ ใช้ร่วมกับไฟฟ้าที่ผลิตจากการไฟฟ้าฯ ในกิจการบ้านพักตากอากาศบางปูและในระบบบำบัดน้ำเสีย

สำหรับหลักการทำงานโดยทั่วไปในของกังหันลมผลิตไฟฟ้าก็คือ เมื่อมีลมพัดมาปะทะกับใบพัดของกังหันลม กังหันลมจะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานลมที่อยู่ในรูปของพลังงานจลน์ ไปเป็นพลังงานกลโดยการหมุนของใบพัด แรงจากการหมุนของใบพัดนี้จะถูกส่งผ่านแกนหมุนทำให้เพลาที่ติดอยู่กับแกนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ด้วยหลักการนี้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าออกมาได้ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งต่อไปเพื่อใช้งาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะการใช้งานคือ แบบอิสระ (Stand Alone System) และแบบเชื่อมต่อสายส่ง (Grid System) โดย Wind Farm ในพื้นที่สาธิตการบรรเทาวิกฤตภาวะโลกร้อน บางปูเป็นแบบเชื่อมต่อสายส่ง (Grid System) ประกอบไปด้วย ใบพัด เชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประเภทขับตรง เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าแบบเชื่อมต่อระบบสายส่ง (Grid Type Inverter) โดยจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มาใช้ร่วมกับไฟฟ้าระบบเดิมหรือที่ซื้อจากทางการไฟฟ้าฯ อย่างต่อเนื่องหรือหากพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้มากเกินความต้องการก็อาจติดต่อทางการไฟฟ้าฯ เพื่อขอขายคืนกลับให้การไฟฟ้าฯได้ในอนาคต

วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พลังงานหมุนเวียน ทางเลือก ทางรอดของประเทศ


พลังงานหมุนเวียน ทางเลือก ทางรอดของประเทศ

ผมทำงานด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนมานาน มีโอกาสเดินทางไปบรรยายให้ความรู้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากมายหลายแห่งทั่วประเทศ เมื่อ 5 ปีก่อนเราเติมน้ำมันกันลิตรละสิบกว่าบาท วันนี้ลิตรละเท่าไรคงต้องดูกันเอาเองเพราะขึ้นทุกวัน ทุกครั้งที่ผมขึ้นเวทีบรรยายบางท่านอาจจะคงยังจำได้ว่าผมมักจะพูดเสมอว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะต้องซื้อน้ำมันกันลิตรละ 50 บาท เมื่อสี่ห้าปีก่อนผมมักได้รับเสียงวิภาควิจารย์และเสียงหัวเราะจากผู้เข้ารับฟังการบรรยายของผมบางส่วนเสมอ ผมยอมรับว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในวันนี้สูงขึ้นเร็วกว่าที่ผมคาดการณ์ไว้มาก ยังจำได้เป็นอย่างดีว่าเมื่อไม่นานมานี้เวลาที่ราคาน้ำมันจะขยับตัวสูงขึ้น เพื่อนผมที่ทำงานอยู่ในธุรกิจพลังงานจะโทรมากระซิบว่าให้รีบไปเติมน้ำมันก่อนกลับบ้าน ผมก็จะกระทำตามทุกครั้งก่อนที่จะไปคุยให้อาจารย์ท่านอื่นๆ ฟังในวันรุ่งขึ้นอย่างภาคภูมิใจว่าสามารถเติมน้ำมันได้ถูกกว่าคนอื่น แต่ทุกวันนี้เพื่อนผมเลิกโทรบอกผมแล้ว คงหมดค่าโทรศัพท์ไปหลายบาท ผมเองก็เริ่มจะทำใจได้และรู้สึกเฉยๆ กับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกผมก็คงเป็นเช่นเดียวกันกับประชาชนคนไทยอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งชินกับการเปลี่ยนแปลง และต้องจำทนรับสภาพกับสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้เราทราบว่า “ยุคแห่งความสะดวกสบายและการใช้ทรัพยากรณ์ที่มีอยู่อย่างฟุ้งเฟ้อกำลังจะหมดลง…”
ก่อนที่จะคุยกันเรื่องพลังงานคงต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าพลังงานแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือพลังงานใช้แล้วหมดไป หรือบางครั้งเรียกว่า“พลังงานสิ้นเปลือง” หรือ “พลังงานฟอสซิล” เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ พวกนี้ใช้แล้วจะมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ แน่นอนของที่มีจำนวนน้อยหรือหายากก็จะมีราคาแพงขึ้น และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
ประเภทที่สองคือ พลังงานใช้ไม่หมด บางครั้งเรียกว่า “พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด” เช่น ชีวมวล (ไม้ ฟืน แกลบ กากอ้อย มูลสัตว์) น้ำ แสงอาทิตย์ ลม คลื่น ฯลฯ พวกนี้สามารถเกิดขึ้นตามธรรมชาติสามารถสร้างหรือปลูกทดแทนได้ ควรส่งเสริมให้มีการใช้กันให้มากที่สุดเพราะไม่ต้องซื้อต้องหามีอยู่รอบๆ ตัวเรา

อีกเรื่องที่เราจำเป็นต้องรู้ในยุคนี้ก็คือเรื่องของภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์สืบเนื่องจากโลกไม่สามารถระบาย ความร้อนที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ออกไปได้อย่างที่เคยเป็น เวลาผมอธิบายหรือบรรยายให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านมักไม่ค่อยชอบฟังซึ่งอาจเป็นเพราะเข้าใจยาก แต่ผมชอบประโยคที่คุณภาสกร พุทธิชีวิน CEO บริษัท บีเอ็นบี อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ท่านกล่าวให้ชาวบ้านฟังว่า “โดยปกติอุณหภูมิของร่างกายคนทั่วไปจะประมาณ 35 องศา ถ้าวัดแล้ว 37 องศา มันก็แสดงว่าเริ่มป่วยหรือเป็นไข้แล้ว ต้องให้ยา ต้องรีบรักษา ก่อนที่มันจะลุกลามจนถึงขั้นลุกไม่ขึ้น รักษาไม่ทัน ไอ้โลกของเราขณะนี้ก็เช่นกัน แต่โลกของเรารักษาเพียงคนเดียวไม่ได้ เราต้องร่วมมือกัน...” สาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิดจากภาวะเรือนกระจกหรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า “Green house effect” ซึ่งมีต้นเหตุ จากการที่มนุษย์เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ จากการขนส่งการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนั้นมนุษย์เรายังได้เพิ่มก๊าซกลุ่มไนตรัสออกไซด์และคลอโรฟลูโรคาร์บอน (CFC) เข้าไปอีกด้วย พร้อม ๆ กับการที่เราตัดและทำลายป่าไม้จำนวนมหาศาลเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ ทำให้กลไกในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยธรรมชาติถูกทำลายลง และในที่สุดสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้กระทำต่อโลกก็ได้หวนกลับมาสู่เราในลักษณะของภาวะโลกร้อน

วิกฤติการณ์ ด้านพลังงานในปัจจุบัน รวมถึงผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกพยายามแสวงหาวิธีในการแก้ปัญหาและลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยนับวันจะทวีความรุนแรงและมีบทบาทเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคงเป็นภัยธรรมชาติ ที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง การแปรปวนของฤดูการณ์ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมชายฝั่ง คาดกันว่าในอนาคตปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

โจทย์ของผมและของคนไทยในวันนี้จึงมีอยู่ว่า ถ้ามันลิตรละร้อย ก๊าซหุงต้ม (LPG) ไม่มีขาย พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินราคาแพงมาก แล้วพวกเราจะดำเนินชีวิตกันอย่างไร ผมลองนั่งคิดและสร้างโมเดลในการดำเนินชีวิตของผมในอนาคตขึ้นมาโมเดลหนึ่ง หากว่าผมต้องไปสร้างบ้านบนภูเขา ห่างไกลความเจริญ ผมจะอยู่อย่างไร โดยมีข้อแม้ว่าต้องอยู่ได้และต้องไม่เป็นการเพิ่มอุณหภูมิของโลก และยังดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบายตามปกติ ผมจึงเลือก 4 เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกยุคนี้

เครื่องผลิตไบโอดีเซล “น้ำมันบนดิน เหลือกินเหลือใช้” ผมจะปลูกต้นไม้ ปลูกพืชเศรฐกิจประเภท ปาล์ม สบู่ดำ กระเจี๊ยบ ปลูกผักผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำมาเป็นอาหาร ส่วนที่เหลือก็จะนำไปขาย เงินที่ได้ใช้จ่ายเท่าที่ต้องการและเก็บส่วนหนึ่งไว้ยามเจ็บป่วย ผมจำเป็นต้องใช้รถยนต์ในการเดินทางไปทำกิจธุระในเมือง ใช้เกวียนคงไม่ไหวหากเจ็บป่วยคงไม่ทันการณ์ ผมต้องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลใช้เองแทนการใช้น้ำมันปิโตเลี่ยม

ไบโอดีเซล เป็นชื่อเรียกที่หมายถึงเชื้อเพลิงที่ผลิตจากน้ำมันพืช หรือไขมันสัตว์ ซึ่งเป็นพืชผลจากเกษตรกรรม โดยผ่านกระบวนการทางเคมี เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างไขมันให้เป็นเอสเทอร์ของกรดไขมัน ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซลได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องยนต์ วิธีการที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ และในหลาย ๆ ชุมชนก็มีการผลิตไบโอดีเซลด้วยวิธีการนี้เช่นกัน คือ กระบวนการทรานเอสเทอริฟิเคชัน เพราะทำได้ค่อนข้างง่าย ไม่ซับซ้อนมากนัก

เครื่องผลิตแก๊สและปุ๋ยชีวภาพ “ปุ๋ยดี แก๊สฟรี ไม่มีขยะ” เวลาหุงหาอาหาร อยากต้มน้ำชงชาสักถ้วยดื่มในตอนเช้า ผมจะผลิตแก๊สชีวภาพใช้เองแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) จากเศษอาหารที่เหลือ เศษผักผลไม้ ใบไม้ใบหญ้า และมูลสัตว์ ได้แก๊สและปุ๋ยใช้แถมยังได้ปุ๋ยชีวภาพอยางดีมาใช้กับต้นไม้ในสวนอีกด้วย

ก๊าซชีวภาพ คือ ก๊าซที่เกิดจากการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยแบคทีเรียชนิดไม่ใช้ออกซิเจนในสภาวะไร้อากาศ องค์ประกอบหลักของก๊าซชีวภาพได้แก่ ก๊าซมีเทนประมาณ 60-70% ก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ประมาณ 28-30% ก๊าซอื่นๆ เนื่องจากก๊าซชีวภาพมีส่วนของมีเทนเป็นส่วนประกอบหลัก จึงทำให้มีคุณสมบัติติดไฟได้ดี และสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานในรูปแบบอื่นๆ ได้มากมาย

กังหันลมผลิตไฟฟ้า “ลมแรง ลมดี ใช้ไฟฟรีไม่เสียเงิน” เนื่องจาก ผมต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานและต้องติดตามข่าวสารและละครโปรดทางวิทยุและโทรทัศน์ ผมต้องการไฟฟ้าแต่จะไม่ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเนื่องจากเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนผมจะต้องผลิตไฟฟ้าใช้เอง ผมตั้งใจจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทลมจากกังหันลมผลิตไฟฟ้า

ลมเป็นพลังงานธรรมชาติที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ 2 ที่ ซึ่งสะอาดและบริสุทธิ์ใช้แล้วไม่มีวันหมดสิ้นไปจากโลก ได้รับความสนใจนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน กังหันลมก็เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่สามารถนำพลังงานลมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะในการผลิตกระแสไฟฟ้า พลังงานลมเกิดจากพลังงานจากดวงอาทิตย์ตกกระทบโลกทำให้อากาศร้อน และลอยตัวสูงขึ้น อากาศจากบริเวณอื่นซึ่งเย็นและหนาแน่นมากกว่าจึงเข้ามาแทนที่ การเคลื่อนที่ของอากาศเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดลม และมีอิทธิพลต่อสภาพลมฟ้าอากาศในบางพื้นที่ของประเทศไทย กังหันลมผลิตไฟฟ้า คือ เครื่องจักรกลอย่างหนึ่งที่สามารถรับพลังงานจลน์จากการเคลื่อนที่ ของลมให้เป็นพลังงานกลได้ จากนั้นนำพลังงานกลมาใช้ประโยชน์โดยการนำมาขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เชื่อมต่ออยู่ด้านหลังเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

ระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ “แดดแรง แดดดี ใช้ไฟฟรีไม่มีหมด” ผมต้องใช้น้ำบาดาลเพื่อทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และอุปโภคบริโภค ผมจะต้องใช้ระบบสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์และพลังลม เพื่อสูบน้ำขึ้นไปเก็บบนถังน้ำสูงและนำมาใช้ตามความต้องการ

ดวงอาทิตย์ให้พลังงานจำนวนมหาศาลแก่โลกของเรา พลังงานจากดวงอาทิตย์จัดเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญที่สุด เป็นพลังงานสะอาดไม่ทำปฎิกิริยาใดๆ อันจะทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เซลล์แสงอาทิตย์จึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางอิเล็คทรอนิคส์ชนิดหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า เนื่องจากสามารถเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง ส่วนใหญ่เซลล์แสงอาทิตย์ทำมาจากสารกึ่งตัวนำพวกซิลิคอน มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้สูงถึง 22 เปอร์เซนต์ ในส่วนของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ในเกณฑ์สูง พลังงานโดยเฉลี่ยซึ่งรับได้ทั่วประเทศประมาณ 4 ถึง 4.5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อวัน

ขอเพียง 4 เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนที่กล่าวมาแล้วนี้ ผมคิดว่าผมสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานสิ้นเปลือง ที่สำคัญผมไม่ต้องพึ่งพาพลังงานสิ้นเปลืองที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศปีละหลายแสนล้านบาท ผมทำคนเดียวผมก็สบายยู่คนเดียว ผมเชื่อว่าทุกวันนี้หลายๆคนใช้เงินที่หาด้วยนำพักน้ำแรงแต่ละเดือนเติมน้ำมันรถยนต์มากกว่านำไปใช้กินข้าวเสียอีก พวกเราคนไทยลองช่วยกันคิดดู หากทำเช่นเดียวกันทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกหมู่บ้านและชุมชน ทั่วประเทศ อะไรจะเกิดขึ้น ประเทศชาติจะรวยขึ้นสักแค่ไหน นำงบประมาณในการนำเข้าพลังงานมาพัฒนาประเทศได้มากเท่าไร ที่สำคัญยังช่วยลดผลกระทบต่อต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ได้มากมายมหาศาล ต่ออายุให้กับโลกเพื่อลูกหลานได้อีกนานทีเดียว นี้คือโครงการในฝันของผม โครงการ “พึ่งพาตนเองด้านพลังงานทดแทน”

อ.ขันติ ปานขลิบ

วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2551

มาใช้พลังงานทดแทนกันดีกว่า

...อยากจะให้เราลองนั่งคิดกันเล่นๆ ถ้าพวกเราหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ เนื่องจากมีอยู่โดยทั่วไป ไม่ต้องซื้อหา เป็นพลังงานที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพแวดล้อม และสามารถนำมาใช้ประโยชน์กันได้อย่างไม่รู้จักหมดสิ้นมาผลิตไฟฟ้าใช้กันในบ้าน ตามหลักแ่ห่งความพอเพียงกันหลังละเพียง 500 วัตต์ หากร่วมมือร่วมใจกันสัก 10,000 หลังคาเรือนทั่วประเทศ จะประหยัดไฟฟ้ารวมกันได้เท่าไร และประเทศชาติจะลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้มากน้อยเพียงใด

รถพลังงานไฟฟ้า ไร้มลพิษ ไร้ความคิด

...ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ กับการใช้รถพลังงานไฟฟ้า แม้ว่าจะไร้มลพิษ สะอาด และปลอดภัย แต่ต้องไม่ลืมว่าไฟฟ้าที่เราผลิตได้นั้น หลักๆก็ยังคงได้จากการเผาน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ดี การเปลี่ยนพลังงานเชื้อเพลิงไปเป็นพลังงานไฟฟ้านั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด เผาไป 100 ส่วนจะได้พลังงานไฟฟ้ากลับมาให้ใช้กันเพียง 20 -30 ส่วน ซึ่งพลังงานประเภทนี้กำลังจะหมดไปจากประเทศในระยะเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้า มีนักวิชาการบางท่านทำนายไว้ว่าอีกไม่กี่ปีนี้ เราคงได้มีโอกาสซื้อน้ำมันกันในราคาลิตรละ 100 บาท ซึ่งจากข้อมูลทางสถิติและสภาวการณ์ด้านพลังงานที่ประเทศชาติกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ การคาดการณ์จากนักวิชาการท่านดังกล่าวคงไม่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงมากนัก ไม่จำเป็นต้องให้นักพยากรณ์ชื่อดังมาฟันธง พวกเราคงเคยสงสัยกันว่าทำไมภาครัฐจึงออกมารณรงค์กันมากมายเพื่อให้มีการใช้พลังงานในรูปแบบต่างๆกันอย่างคุ้มค่า ให้ช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าหรือเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน การประชาสัมพันธ์และการรณรงค์ดังกล่าวแม้ว่าต้องใช้เงินลงทุนมากมาย แต่ก็คุ้มมากถ้าสามารถยืดระยะเวลาในการใช้พลังงานที่ยังคงเหลืออยู่ในแผ่นดินไทยออกไปได้อีกสักระยะ เนื่องจากประเทศเรานำเข้าพลังงานในรูปแบบต่างๆเกือบ 100% ทุกวันนี้พวกเราเบียดเบียนทรัพยากรโลกที่ใช้เวลาในการสร้างและสะสมกันมานับล้านปีมากเกินไปหรือเปล่า ในอนาคตโลกเราจะเป็นอย่างไร และลูกหลานเราจะมีความสุขเหมื่อนกับพวกเราในวันนี้ไหม ปัญหาเหล่านี้น่าคิดนะแต่ก็ยากที่จะหาคำตอบ